X
MODIFY: Technology News
Technology, Innovation, and Education เทคนิดการใช้งาน สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เรื่องไอที

22 มกราคม วันเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” วันแรก

หลายคนไม่ทราบว่าคำว่า “สวัสดี” ไม่ได้มีมานานนัก เพียงแต่ถูกคิดขึ้นได้ไม่นานมานี้เอง

เชื่อว่าคำว่า “สวัสดี” ถือเป็นคำที่คนยุคนี้ใช้กันจนชิน จนทำให้คิดกันว่าคำว่าสวัสดีคงเกิดขึ้นมาพร้อมกับภาษาไทย แต่จริงๆแล้ว “สวัสดี” เพิ่งจะเกิดขึ้นมาได้ไม่นานมานี้เอง วันนี้ (22 มกราคม) ถือเป็นวันครบรอบ 76 ปีการใช้คำว่า “สวัสดี” และ Google ได้ทำ doodle ในหน้าค้นหาของประเทศไทย ก็เลยมีการพูดคุยและเกิดข้อสงสัยของที่มาของคำ คำนี้ ส่วนจะมีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น เรามาเริ่มทำความรู้จักกับคำว่า “สวัสดี” ให้มากขึ้น เวลาใช้จะได้รู้ที่มาที่ไปกันครับ

คำว่าสวัสดีมีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการเมื่อ 76 ปีก่อน หรือในปี พ.ศ. 2486 โดยคำคำนี้เริ่มใช้ครั้งแรก พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยดันแปลงมาจาก “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต เริ่มใช้ครั้งแรก ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น

และคำ คำนี้ถูกใจ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้มีการกำหนดให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 เป็นต้นมา

“สวัสดี” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า “สุ” เป็นคำอุปสรรค (คำเติมหน้าศัพท์ที่ทำให้ความหมายของศัพท์เปลี่ยนแปลงไป) แปลว่า ดี งาม หรือ ง่าย และคำว่า “อสฺติ” เป็นคำกิริยาแปลว่า มี แผลงคำว่า “สุ” เป็น “สว” (สฺวะ) ได้โดยเอา “อุ” เป็น “โอ” เอา “โอ” เป็น “สฺว” ตามหลักไวยากรณ์ แล้วสนธิกับคำว่า “อสฺติ” เป็น “สวสฺติ” อ่านว่า สะ-วัด-ติ แปลว่า “ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน) ”

พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ปรับเสียงของคำว่า “สวสฺติ” ที่ท่านได้สร้างสรรค์ขึ้นให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะ รื่นหูกว่า จึงกลายเป็น “สวัสดี” ใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทย

คำว่าสวัสดีเป็นการทักทายและถือเป็นการอวยพร กับบุคลที่พบเจอไปด้วยพร้อมๆกัน โดยใช้ควบคู่กับการประนมไหว้ ที่สือความหมายให้เหมือนรูปดอกบัว ที่เราใช้บูชาสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วแต่ตำแหน่งของการประนมไหว้ (ที่หน้าอก สิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล และ ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้) และหากผู้พูดคำว่า “สวัสดี” เป็นผู้น้อยหรือมีอายุน้อยกว่า มักจะเติมคำว่า ครับ, ค่ะ แต่หากผู้พูดเป็นผู้ใหญ่หรือมีอายุมากกว่า มักจะพูดเพียงแค่สวัสดีเท่านั้น

ทั้งนี้ยังมีคำทักทายตามช่วงเวลาที่ภาษาอังกฤษใช้กันคือ good morning, good afternoon, good evening และ good night ก็ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นเดียวกัน โดยกำหนดคำตามแบบอังกฤษดังต่อไปนี้

  • อรุณสวัสดิ์ มาจากคำว่า good morning ที่แปลว่า สวัสดีตอนเช้า
  • ทิวาสวัสดิ์ มาจากคำว่า good afternoon ที่แปลว่า สวัสดีตอนบ่าย
  • สายัณห์สวัสดิ์ มาจากคำว่า good evening ที่แปลว่า สวัสดีตอนเย็น
  • ราตรีสวัสดิ์ มาจากคำว่า good night ที่แปลว่า สวัสดีตอนกลางคืน

แต่ด้วยความที่คำทั้ง 4 นี้ใช้งานตามช่วงเวลา ไม่เหมือนกับคำว่าว่าสวัสดี ที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา คำดังกล่าวจึงไม่เป็นที่นิยมนัก มีเพียง 2 คำที่ยังคงใช้กันอยู่บ้างคือคำว่า อรุณสวัสดิ์ และ ราตรีสวัสดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี