X
MODIFY: Technology News
Technology, Innovation, and Education เทคนิดการใช้งาน สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เรื่องไอที

ราชบัณฑิต เล็งเพิ่มคำว่า “กดไลค์” และอื่นๆลงในฐานข้อมูลเพิ่ม

ราชบัณฑิต

เชื่อว่าหลายคนคงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า กดไลค์ หรือ Like เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราชื่นชอบสิ่งนั้นๆในโลก Social Network ต่างๆ โดยตอนนี้ ราชบัณฑิต ปรับระบบฐานข้อมูลใหม่ เพิ่มคำทันสมัย ศัพท์วัยรุ่น และคำสแลง ใส่ในฐานข้อมูลเตรียมไว้ก่อนทำพจนานุกรม สามารถนำมาอ้างอิงได้แม้ยังไม่ตีพิมพ์

โดยมีคำที่นอกเหนือจากคำว่า “กดไลค์” อาทิเช่น

  • เกรียน หมายถึง พฤติกรรมก่อกวนและชอบละเมิดกฎระเบียบ
  • การเมืองบนถนน หมายถึง การเล่นการเมืองนอกสภา
  • กดไลค์ หมายถึง ไอคอน like หรือชอบ เป็นรูปชูหัวแม่มือหนึ่งข้าง
  • ขั้นเทพ หมายถึง ดียิ่ง เก่งอย่างยิ่ง
  • ซุปตาร์ หมายถึง นักแสดงหรือนักร้องที่มีคนชื่นชอบจำนวนมาก
  • มังกรการเมือง หมายถึง นักการเมืองที่มีประสบการณ์การเมืองยาวนาน
  • มาคุ หมายถึง อึมครึม วังเวง
  • เว้นวรรค หมายถึง ลาออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือยุติบทบาทชั่วคราว
  • สุดซอย จากความหมายเดิมคือ ถึงที่สุดจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมาคำว่า สุดซอย ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง เป็นต้น

วันนี้ (3 มกราคม 2557) นายอุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ประธานคณะกรรมการการจัดทำฐานข้อมูลคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เปิดเผยว่า คลังคำและแหล่งข้อมูลจากตำราหรือหนังสือสาขาวิชาต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อนำมาจัดทำพจนานุกรมหรือสารานุกรมสาขาต่าง ๆ มีจำนวนน้อยมาก โดยมีประมาณ 3.7 หมื่นคำเท่านั้น ที่บรรจุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้ง ๆ ที่มีคำที่ใช้ในภาษาไทยจำนวนหลายแสนคำ

นาย อุดม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานล่าช้ามาก ตลอดระยะเวลาเกือบ 80 ปี มีการปรับปรุงครั้งใหญ่เพียง 4 ครั้งเท่านั้น อีกทั้งการปรับปรุงแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน เนื่องจากต้องระดมนักวรรณศิลป์ทุกคนในราชบัณฑิตยสถาน ให้ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องและพิสูจน์อักษรคำต่าง ๆ ในพจนานุกรม และงานต่าง ๆ ในส่วนที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบก็ต้องหยุดลงทันที จึงได้ลงมติว่า จะจัดทำโครงการจัดทำฐานข้อมูลในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ นายอุดม ยังกล่าวอีกว่า การจัดทำฐานข้อมูลคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้น จะเป็นการรวบรวมเอาคำศัพท์ใหม่ ศัพท์วัยรุ่น และคำสแลง ที่นำเสนอผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อต่าง ๆ  ที่ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลเอาไว้ก่อน เพื่อให้สะดวกในการนำคำศัพท์มาใช้ในการชำระพจนานุกรมและจัดทำพจนานุกรมคำ ใหม่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2557

นายอุดม กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะนำคำศัพท์มาบรรจุในฐานข้อมูลก็จะมีการปรับเปลี่ยนความหมายและคัด เลือกคำที่ทันสมัยรวมถึงคำที่กำลังนิยม ซึ่งหากจัดทำระบบฐานข้อมูลก็จะทำให้การชำระพจนานุกรมสามารถทำได้เร็วขึ้น เพราะมีคำศัพท์ที่คัดเลือกไว้แล้ว ส่วนคำศัพท์ใหม่ก็จะมีความหลากหลายและคัดเลือกตรงตามหลักเกณฑ์มากขึ้น ที่สำคัญคำไหนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ก็สามารถค้นหาความหมาย เพื่อนำไปอ้างอิงได้

ที่มา – Kapook