X
MODIFY: Technology News
Technology, Innovation, and Education เทคนิดการใช้งาน สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เรื่องไอที

ตุรกี สั่งบล็อค Twitter ในประเทศ ออกคำสั่งโดย นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdoğan

เป็นอีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปิดกั้นรัฐบาลที่มีต่อสือสังคมออนไลน์ต่างๆครับ โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรี  Recep Tayyip Erdoğan ได้มีการออกคำสั่งบล็อค Twitter ภายในประเทศของตุรกี ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศมีผลกระทบประมาณ 10 ล้านคน

โดยเหตุผลของ Recep Tayyip Erdoğan กล่าวว่า เขาไม่สนใจว่าชาวโลกจะมองอย่างไร แต่ต้องการให้ชาวโลกประจักษ์ถึงพลังของสาธารณรัฐตุรกี โดยมีรายละเอียดข่าวดังต่อไปนี้ครับ

Erdoğan อาศัยอำนาจตามกฏหมายใหม่ที่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาตุรกีท่ามกลางกระแสคัด ค้านและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก โดยกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (คล้าย กสทช. ของบ้านเรา) สามารถสั่งปิดเว็บไซต์ได้เมื่อเชื่อได้ว่าเว็บไซต์ดังกล่าวได้ละเมิดสิทธิ ส่วนบุคคล ซึ่งนอกจาก Twitter ที่เป็นเป้าหมายของ Erdoğan แล้ว เมื่อสองสัปดาห์ก่อนเขายังได้ขู่ว่าจะปิด Facebook และ YouTube ด้วยเช่นกัน

ด้าน Twitter เองได้ตรวจสอบและยืนยันถึงการถูกปิดกั้นการให้บริการในตุรกีจริงเมื่อไม่กี่ ชั่วโมงที่ผ่านมา ต่อมาภายหลังทางการตุรกีได้ส่งข้อความผ่าน Twitter ระบุว่าผู้ใช้ Twitter ในประเทศตุรกียังคงสามารถรับ-ส่งข้อความได้ผ่านทางบริการ SMS ของโทรศัพท์มือถือ

ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ราวเดือนกุมภาพันธ์ Erdoğan เคยแถลงต่อสภาตุรกีเกี่ยวกับเรื่องบอตใน Twitter โดยอ้างว่าพวกมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมุ่งโจมตีการทำงานของรัฐบาล เขากล่าวว่า “หุ่นยนต์จอมวิ่งเต้นนั้นถูกจัดฉากสร้างขึ้นมาและกำลังโหมถล่มด้วยข้อความ ทวีตจำนวนมาก” และย้ำว่า “พวกเขาสนใจแต่เรื่องการโจมตีด้วยข้อความให้เพิ่มมากขึ้น” โดยวาทกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับตอนที่มีข้อมูลเบอร์โทรศัพท์จำนวน หนึ่งถูกเผยแพร่สู่สังคม ซึ่งเชื่อว่าอาจมีการพัวพันกับการทุจริตในรัฐบาลของ Erdoğan

หลังจากนั้นไม่นาน Erdoğan ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาเกี่ยวกับความเห็นจากหลายฝ่ายต่อกฎหมายเจ้าปัญหานี้ว่า “คนบางกลุ่มที่รู้จักกันดีได้ลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายอินเทอร์เน็ตนี้ทันที” เขายังกล่าวอีกว่า “เรามีความมุ่งมั่นว่าเราจะไม่ยอมให้ผู้คนชาวตุรกีต้องตกเป็นเหยื่อของ YouTube และ Facebook” พร้อมอ้างว่า “ผู้คนเหล่านั้น (เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ) ปลุกเร้าความเสื่อมทรามทางจริยธรรม และจารกรรมข้อมูลต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนท่าทีของบุรุษผู้นี้ดูจะสวนทางกับความเห็นของ Abdullah Gül ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของตุรกี ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ภายหลังคำขู่ปิด Facebook และ Youtube ของ Erdoğan ไว้ว่า “การปิดกั้นสิ่งเหล่านั้น (เครือข่ายสังคมออนไลน์) ไม่อาจทำได้” และทิ้งท้ายว่า “ทั้งคู่คือแพลตฟอร์มที่สำคัญมาก, เรามีความภาคภูมิใจเสมอที่ได้เพิ่มขยายเสรีภาพ”

ที่มา – Mashable ผ่าน Blognone (โดย ตะโร่งโต้ง)

เห็นแบบนี้แล้วไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป สำหรับท่าทีกับเหตุการณ์นี้ เพราะเหมือนว่าจะไม่จบแค่ Twitter เสียด้วย ^^