จอร์จ บูล (George Boole) ครบรอบวันเกิด 200 ปี

จอร์จ บูล


วันนี้ Google ขึ้น Doodle นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวอังกฤษ “จอร์จ บูล” เป็นวันครบรอบวันเกิด 200 ปีของเขา หลายคนน่าจะรู้จักเขาดีในฐานะผู้คิดค้นพีชคณิตแบบบูล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของ ตรรกศาสตร์ และ วงจรดิจิตอล

จอร์จ บูล

จอร์จ บูล เกิดที่ เมืองลิงคอล์น ประเทศอังกฤษ บิดาชื่อ จอห์น บูล (1779-1848) จอร์จ บูลได้ศึกษาในคณิตศาสตร์ชั้นสูง และได้ทำงานเป็นครูสอนคณิตศาสตร์อยู่ตามโรงเรียนเป็นช่วงสั้นๆ จนกระทั่ง ในปี 1849 จอร์จ บูล ได้เป็นศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ที่ Queen’s College Cork (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น University College Cork อยู่ในประเทศไอร์แลนด์) ในที่นี้เขาได้ศึกษาและตีพิมพ์วรสารทางวิชาการหลายงาน ซึ่งมักจะเกี่ยวกับ สมการเชิงอนุพันธ์ และแคลคูลัส จนในปี 1854 จอร์จ บูล ได้ตั้งข้อสังเกตในความคล้ายคลึงกันระหว่างระบบบวก คูณ และระบบตรรกศาสตร์และ หรือ จึงสร้างระบบพีชคณิตแบบบูล ในงานของเขาที่ชื่อว่า An Investigation of the Laws of Thought, on Which are Founded the Mathematical Theories of Logic and Probabilities (มักเรียกสั้นๆว่า The Law of thought) ซึ่งยังไม่มีชื่อเสียงในขณะนั้น

จอร์จ บูล

ในปี 1855 จอร์จ บูลได้แต่งงานกับ แมรี่ เอเวอร์เรสต์ (ซึ่งลุงของเธอ จอร์จ เอเวอร์เรสต์ เป็นนักสำรวจในอินเดียที่มีชื่อเสียง และยอดเขาเอเวอร์เรสต์ก็ ตั้งมาจากนามสกุลนี้นั้นเอง) ซึ่งเธอมีบทบาทในการช่วยทำงานของสามีเธอเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างนั้นจอร์จ บูลก็ยังคงศึกษาทางตรรกะ และคณิตศาสตร์เรื่อยมา (ในสมัยนั้นยังไม่รวมเป็นวิชาเดียวกัน) จนกระทั่งในวันที่ 8 ธันวาคม1864 จอร์จ บูล ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคติดเชื้อในปอด สิริอายุรวมได้ 49 ปี

หลังจากจอร์จ บูลตายไป 73 ปีผลงาน พีชคณิตแบบบูล นั้นได้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งโดยคลาวด์ อี. แชนนอน ได้นำพีชคณิตแบบบูลมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบวงจรดิจิตอลและใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

พีชคณิตแบบบูล

ในคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ พีชคณิตแบบบูล, พีชคณิตบูลีน หรือ แลตทิซแบบบูล (อังกฤษ: Boolean algebra) คือโครงสร้างเชิงพีชคณิตซึ่งเป็นการรวบรวมแก่นความหมายของการดำเนินการทางตรรกศาสตร์และทฤษฎีเซต โดยชื่อพีชคณิตแบบบูลนั้นตั้งตามจอร์จ บูล ผู้พัฒนาพีชคณิตแบบนี้

จอร์จ บูล นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัย College Cork ผู้ที่นิยามพีชคณิตดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางตรรกศาสตร์ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 พีชคณิตแบบบูลนำเทคนิคทางพีชคณิตมาใช้กับนิพจน์ในตรรกศาสตร์เชิงประพจน์ ในปัจจุบันพีชคณิตแบบบูลได้ถูกนำไปประยุกต์อย่างแพร่หลายในการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ที่นำไปใช้คนแรกคือคลาวด์ อี. แชนนอน นักวิทยาศาสตร์แห่งห้องทดลองเบลล์ (Bell Laboratory) ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนำมาใช้ในการวิเคราะห์วงจรเน็ตเวิร์กที่ทำงานต่อกันหลาย ๆ ภาค เช่น วงจรของโทรศัพท์ เป็นต้น เมื่อมีการพัฒนาวงจร คอมพิวเตอร์ขึ้นก็ได้มีการนำเอาพีชคณิตบูลีนมาใช้ในการคำนวณ ออกแบบ และอธิบายสภาวะการทำงานของสถานะวงจรภายในระบบคอมพิวเตอร์ โดยพีชคณิตบูลีนเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบวงจรตรรกของระบบดิจิตอล

ที่มา – วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

About modify 4850 Articles
สามารถนำบทความไปเผยแพร่ได้อย่างอิสระ โดยกล่าวถึงแหล่งที่มา เป็นลิงค์กลับมายังบทความนั้นๆ บทความอาจมีการพิมพ์ตกเรื่องภาษาไปบ้าง ต้องขออภัย พยามจะพิมพ์ผิดให้น้อยที่สุด (ทำเว็บคนเดียวไม่มีคนตรวจทาน) บทความที่สอนเรื่องต่างๆ กรุณาอ่านบทความให้เข้าใจก่อนโพสต์ถาม ติดตรงไหนสามารถถามได้ที่โพสต์นั้นๆ

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.