ประมูล 4G คลื่น1800MHz หวังเริ่มประมูล สิงหาคม 2557 เริ่มต้น 11,600 ล้านบาท

กสทช. logo


หลังจากประมูล 3G ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เริ่มมีเดินหน้าที่จะเปิดประมูลคลื่น 1800MHz ที่จะเป็น 4G แล้ว โดย กทค. เห็นชอบร่างประกาศของ กสทช. มีรายละเอียดข่าวดังต่อไปนี้ครับ

    บอร์ด กทค. เคาะราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น 1800 MHz (Reserve Price) และเห็นชอบหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz

กทค. ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 เห็นชอบการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูล (Reserve Price) คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz เพื่อนำเสนอ กสทช. พิจารณาให้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

กทค. เห็นชอบการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลซึ่งคำนวณโดย ITU ในราคา 11,600 ล้านบาทสำหรับชุดคลื่นความถี่ 2×12.5 MHz หนึ่งชุดคลื่นความถี่ หรือ 464 ล้านบาทต่อ MHz วิธีการที่ได้มาถึงตัวเลขดังกล่าว เป็นวิธีการที่เป็นหลักสากลซึ่ง ITU ได้มีการใช้หลากหลายวิธีประกอบการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่

1. Full enterprise value ซึ่งเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ใช้ในการหามูลค่าปัจจุบันของกำไรที่เกิดจากการนำคลื่นไปใช้ ร่วมกับทรัพยากรทั้งหมดของผู้ประกอบการตลอดช่วงเวลาของการได้รับใบอนุญาต โดยจะคำนวณทั้งสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้ประกอบรายเล็ก สามารถเข้าสู่การประมูลได้
2. Cost reduction value เป็นวิธีการประมาณการมูลค่าของส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นในกรณีที่ได้รับและไม่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่จากการประมูล
3. Benchmark ซึ่งเป็นวิธีทางสถิติ ซึ่งได้มีการนำสถิติการประมูลคลื่นความถี่จากประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างปี 2549 – 2556 มาพิจารณา โดยเป็นข้อมูลสถิติจากการประมูลทั่วโลกจำนวน 101 ใบอนุญาต จากการประมูลของแถบ Asia Pacific 32 ใบอนุญาต และประเทศที่มี GDP/capita ต่ำกว่า below US$30,000 (PPP) โดย ITU

การพิจารณากำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูล กสทช. ได้ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบผลการประมาณการมูลค่าคลื่นความถี่ด้วยวิธีการที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน เพื่อมากำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสม รัดกุม และรอบคอบ และมีการคำนึงถึงความสามารถในการเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมทั้งผลการประมูลที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศประกอบด้วย และที่สำคัญยิ่ง การกำหนดราคาเริ่มต้นในการประมูลจะต้องสร้างความมั่นใจได้ว่า เป็นราคาขั้นต่ำที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และสำหรับราคาที่ชนะการประมูลนั้นจะเป็นไปตามกลไกการแข่งขันในการประมูลเอง ทั้งนี้ ราคาขั้นต่ำของการประมูลนี้มีค่าสูงกว่าราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่กำหนดไว้ที่ 450 ล้านบาทต่อ MHz

และในวันนี้เอง กทค. ได้มีพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน ๑๗๑๐ – ๑๗๒๒.๕ MHz/๑๘๐๕ – ๑๘๑๗.๕ MHz และ ๑๗๔๘ – ๑๗๖๐.๕ MHz/๑๘๔๓ – ๑๘๕๕.๕ MHz พ.ศ. …. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT)ย่านความถี่ ๑๗๑๐-๑๗๘๕/๑๘๐๕-๑๘๘๐ เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยเห็นชอบให้นำร่างประกาศดังกล่าวนำเสนอ กสทช. เพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

ทั้งนี้ แผนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะมีกรอบระยะเวลาในการนำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2557 โดยจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศลงในราชกิจกานุเบกษา ในปลายเดือนมิถุนายน 2557 จากนั้นจะประกาศเชิญชวน และเผยแพร่ สรุปข้อสนเทศ (IM) ฉบับสมบูรณ์ พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ผู้ยื่นประมูลมารับเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นประมูลในปลายเดือนกรกฎาคม 2557 จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมการประมูลต้นเดือนสิงหาคม และจัดการประมูลพร้อมประกาศผลการประมูลในเดือนสิงหาคม 2557

ที่มา – อีเมลประชาสัมพันธ์ กสทช.
About modify 4850 Articles
สามารถนำบทความไปเผยแพร่ได้อย่างอิสระ โดยกล่าวถึงแหล่งที่มา เป็นลิงค์กลับมายังบทความนั้นๆ บทความอาจมีการพิมพ์ตกเรื่องภาษาไปบ้าง ต้องขออภัย พยามจะพิมพ์ผิดให้น้อยที่สุด (ทำเว็บคนเดียวไม่มีคนตรวจทาน) บทความที่สอนเรื่องต่างๆ กรุณาอ่านบทความให้เข้าใจก่อนโพสต์ถาม ติดตรงไหนสามารถถามได้ที่โพสต์นั้นๆ

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.